ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

บุญบั้งไฟทั่วไทย

การจัดงานบุญบั้งไฟมีอยู่เกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ ในภาคเหนือมีประเพณีการจุดบ้องไฟ เรียกว่า ประเพณี “จิบอกไฟ”  โดยจัดขึ้นเป็นพุทธบูชา  ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขอฝนโดยตรง แต่ละแห่งมักจัดขึ้นไม่พร้อมกัน นิยมเล่นกันที่ภาคเหนือในเทศกาลต่างๆ เช่น งานประเพณีสรงน้ำพระ ที่วัดพระนอนขอนม่วง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระนอนป่าเก็ดกี่ อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ เป็นต้น นอกจากจะได้กุศลจากการจัดงานแล้ว ยังได้ความสนุกสนาน บุญกุศลที่ได้เพราะเป็นความตั้งใจสักการะ กราบไหว้พระเกษแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประเพณีจุดบอกไฟแต่ละแห่งจัดเป็นงานใหญ่ทุกปี มีการประกวดชิงรางวัลจากคณะกรรมการจัดงาน และมีผู้สนใจนำบอกไฟเข้าแข่งขันเป็นจำนวนมาก (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2551)

 

ในภาคตะวันตก มีประเพณีบุญบั้งไฟกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนในจังหวัดสุพรรณบุรี เช่นที่เทศบาลบางปลาม้า(บ้านเก้าห้อง) อ. บางปลาม้า ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 มีการประกวดแข่งขันบั้งไฟ เพื่อการสนุกสนาน สามัคคี และเป็นการอนุรักษ์ประเพณีของชาวไทยพวน บุญบั้งไฟเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อในเรื่องการบูชาเทวดา โดยเชื่อกันว่า การบวงสรวงด้วยบั้งไฟ เทวดาจะดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่ผืนดิน และประเพณีนี้ยังคงหาดูได้ในหมู่บ้านชาวไทยพวนในเขตตำบลบ้านโข่ง บ้านขาม ดอนคาในอำเภออู่ทอง และตำบลวัดโบสถ์ ตำบลมะขามล้ม อำเภอบางปลาม้า โดยชาวบ้านจะช่วยกันทำบั้งไฟและจัดขบวนแห่นำไปยังบริเวณวัดเพื่อทำพิธีบวงสรวงและจุดขึ้นฟ้า

 

ในภาคตะวันออก เช่น ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีที่ได้รับมาจากภาคอีสาน จัดตรงกับวันวิสาขบูชาเพื่อบูขาเทพยดาอารักษ์ให้ ฝนตกตามฤดูกาล ชาวนาชาวไร่จะได้ทำไร่นาได้ผลอุดมสมบูรณ์  นอกจากการเป็นประเพณีของคนอีสานอพยพ ยังมีงานบุญบั้งไฟที่จัดขึ้นเป็นงานใหญ่ประจำปีที่วัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นงานของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน ซึ่งงานประเพณีในพื้นที่ดังกล่าว เป็นประเพณีของคนลาวเวียงจันดั้งเดิมและลาวพวนที่อาศัยในบริเวณทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวางของลาว ที่ถูกกวาดต้อนมาครั้งเมื่อรัชกาลที่ 3 ยกทัพไปตีเวียงจัน ได้เมื่อ พ.ศ. 2369 (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2550) ซึ่งแม้จะว่าในด้านเชื้อชาติจะผสมผสานกลมกลืนกัน ระหว่างกลุ่มคนในบริเวณดังกล่าว ทั้งลาว ไทย จีน แต่ทว่าชาวลาว (ซึ่งต่อมาเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน) ก็ได้สืบทอดประเพณีดังกล่าวอย่างเหนียวแน่น นอกจากจะเป็นการบูชาแถนตามประเพณีแล้ว ยังเป็นการบวงสรวงบูชาต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวด้วย (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2542) อย่างไรก็ดี จากเว็บไซต์จังหวัดปราจีนบุรี (2552) ได้มีการอ้างอิงว่า มีการจัดงานบุญบั้งไฟได้ประมาณ 50 ปีมาแล้วผู้ที่ริเริ่มในการจัด คือ พระครูวิมลโพธิเขต (จำปา ธมมกาโม) เจ้าคณะตำบลโคกปีบ กิจกรรมของงาน ได้แก่ การประกวดจุดบั้งไฟที่ขึ้นนานที่สุด มีการฟ้อนเซิ้งบั้งไฟเพื่อขอฝน การประกวดขบวนฟ้อนเซิ้ง ซึ่งจะมีคณะกรรมการจากหมู่บ้านต่าง ๆ ในจังหวัดและต่างจังหวัด เช่น สระแก้ว ยโสธร เข้าร่วมตัดสินด้วย

 

สำหรับบุญบั้งไฟในภาคกลาง จะมีการจัดงานที่ในจังหวัดนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ซึ่งมีคนอีสานอพยพเข้าไปอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ที่บ้านนาทราย ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่นับร้อยปี สืบเชื้อสายมาจากชาวหลวงพระบาง ที่สืบทอดประเพณีจัดงานบุญบั้งไฟกันมาเป็นประจำทุกปี บุญบั้งไฟบ้านนาทรายถือเป็นงานใหญ่ที่คึกคักที่สุดแถบอำเภอหล่มเก่า ทุกปีหลังกำหนดวันจัดงานแล้ว ชาวบ้านจะระดมกำลังช่วยกันทำบั้งไฟ พอถึงวันงานจึงถวายให้เจ้าพ่ออู่คำซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านเป็นที่นับถือกันมาเนิ่นนาน ทำหน้าที่ปกปักรักษาหมู่บ้านและดูแลประเพณีงานสำคัญต่างๆ ของชุมชน โดยมีร่างทรงของเจ้าพ่ออู่คำและเจ้าพ่อเจ้าแม่อีกหลายองค์ในหมู่บ้านซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “คาบเจ้าคาบนาย”เป็นตัวแทนของชาวบ้านในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในงานบั้งไฟ ถือเป็นตัวแทนชาวบ้านในการจุดบั้งไฟขอฟ้าฝน (สุคนธ์วิชญ์ นิภานนท์, 2550) และบุญบั้งใฟในภาคกลางอีกงานหนึ่งที่เป็นที่รู้จักก็คือที่อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ ประเพณีบุญบั้งไฟจะจัดในแผนการท่องเที่ยว ประจำปีของจังหวัดนครสวรรค์ โดยรูปแบบการจัดงานมีความคล้ายคลึงกับการจัดทั่วไปในภาคอีสาน

 

ในภาคอีสาน การจัดงานบุญบั้งไฟโดยรวมแล้วจะมีรูปแบบการจัดงานที่คล้ายคลึงกัน แต่จะมีจุดเน้นหรือที่เป็นจุดขายเพื่อการท่องเที่ยวที่แตกต่างกันไป สำหรับในพื้นที่ชนบท เช่น งานในระดับตำบล หรือหมู่บ้าน ยังเป็นการจัดงานที่ไม่ใหญ่โตมากนัก และชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดงานมาก แต่สำหรับการจัดงานในระดับอำเภอ หรือ ที่ถือเป็นงานของอำเภอขึ้นไป จะเป็นงานใหญ่ แต่ก็ยังคงการจัดงานที่เป็นการสืบสานประเพณีดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น ประเพณีบุญบั้งไฟของตำบลหนองโก อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะมีจุดเด่นอยู่ที่การมีเอกลักษณ์ที่ศิลปะการทำลายกนก งดงาม เหนือกว่าชุมชนใกล้เคียง ซึ่งการทำลายกนกเป็นการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านอีกทางหนึ่ง มีลักษณะบั้งไฟเอ้ที่แตกต่างคือ บั้งไฟแบบ 3 บั้ง (บั้งไฟยโสธรเป็นแบบ 1 บั้ง) ตามกำเนิดบั้งไฟพญาขอม (พระยาขอม) ซึ่งเกี่ยวพันกับบ้านกระนวน หูลุบเลา กิ่ง อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น และเกี่ยวข้องกับ บ้านเชียงแหว อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี (อาณาจักรหนองหารน้อยเมื่ออดีตกาล)

                   ที่ตำบลกุดหว้า อ. กุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ จะมีการจัดงานบั้งไฟตะไลล้านในช่วงเดือนพฤษภาคม บั้งไฟตะไลจะมีความยาวประมาณ 9 - 12 นิ้ว รูปร่างกลมมีไม้บางๆ แบน ๆ เป็นวงกลมรอบหัวท้ายของบั้งไฟ เวลาพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าจะพุ่งไปโดยทางขวาง ซึ่งเป็นการสร้างเอกลักษณ์ที่ต่างจากพื้นที่อื่น เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนเข้ามาท่องเที่ยว ที่ตำบลกุดหว้า จะมีชาติพันธุ์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีสโลแกนว่าเป็นบั้งไฟผู้ไท ซึ่งในวัฒนธรรมผู้ไท อรไท ผลดี (2550) ได้อธิบายว่า ประเพณีบุญบั้งไฟก่อนประวัติศาสตร์ของชาวผู้ไท มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่เมืองแถง แคว้นสิบสองเจ้าไท ซึ่งปรากฏหลักฐานในตำนานเรื่องท้าวผาแดง นางไอ่ มาตั้งแต่โบราณ จุดประสงค์ของประเพณีบุญบั้งไฟนั้นนอกจากจะเป็นพิธีกรรมบูชาพระยาแถนเพื่อขอฝนแล้ว ยังเป็นการบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ซึ่งจะทำกันในเดือนหก เพื่อขอฝนให้ตกลงมาทันการเพาะปลูกข้าวกล้า ประเพณีบุญบั้งไฟตะไลยังมีการจัดที่บ้านอ้อ ต.เมืองหลวง อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ โดยจัดขึ้นในช่วงวันสงกรานต์ของทุกปี เพื่อสืบต่อประเพณีอีสาน และเป็นการต้อนรับผ้าป่าสามัคคีไปในตัวด้วย

                   ที่ ต.หนองโก อ.กระนวน จ.ขอนแก่น จัดงานบุญบั้งไฟที่มีเอกลักษณ์คือซึ่งเป็นบั้งไฟแบบ 3บั้ง มีบุษบกครอบอยู่บนราชรถ ลวดลายเป็นแบบลายสับ และมีช่างฝีมือที่ทำการแกะลายกนกที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดให้ลูกหลาน ซึ่งประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอกระนวนนับเป็นงานบุญบั้งไฟที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ จ.ขอนแก่น

                   งานบุญบั้งไฟที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง ก็คือที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นงานที่ใหญ่มาก เเม้ว่าขบวนเเห่จะเป็นรองจังหวัดยโสธร เเต่ว่ามีบั้งไฟเพื่อการจุดมากกว่า ฐานจุดบั้งไฟตั้งอยู่ที่ บ้านดอนพระจันทร์ ห่างจากตัว อ.พนมไพร 1 กิโลเมตร ในปี 2551 งานบุญบั้งไฟพนมไพร จัดเป็นงานใหญ่ระดับชาติชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา มักจะจัดในเดือนมิถุนายนเพื่อไม่ให้ตรงกับงานของจังหวัดยโสธร และถือเป็นประเพณียึดถือเป็นประเพณีแต่เดิมมา เพราะเชื่อว่าหากไม่จัดให้ตรงกับวันบวงสรวงพระธาตุคือขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 จะเกิดเหตุร้ายแก่ผู้ร่วมงาน งานของที่นี่เน้นการจุดบั้งไฟ ซึ่งจะเริ่มจุดกันตั้งแต่เช้ามืดจนถึงหัวค่ำ  ชาวพนมไพรมีความเชื่อว่า องค์พระธาตุวัดกลางอุดมเวทย์ เป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณอันยิ่งใหญ่ คือ “เจ้าพ่อมหาธาตุ” ทำหน้าที่คุ้มครองปกปักรักษาให้ชาวพนมไพรอยู่เย็นเป็นสุข ช่วยเหลือ ผู้ที่เดือดร้อนที่ไปบนบานให้สำเร็จตามปรารถนา ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณของเจ้าพ่อ ชาวพนมไพรทุกคนพร้อมใจจัดงานบุญบั้งไฟเพื่อบวงสรวงเจ้าพ่อทุกปี นอกเหนือจากเทศกาลงานบุญประจำปีแล้ว ยังเป็นนิมิตหมายที่ดีทำให้ลูกหลานชาวพนมไพรที่ไปทำงานในแดนไกลเดินทางกลับมาบ้านเกิดเพื่อพบปะญาติมิตร โดยมีสโลแกนว่า “จุดบั้งไฟไหว้พระธาตุ โฮมญาติพนมไพร คล้องมาลัยพระเศวต”ที่อำเภอพนมไพรนี้เป็นแหล่งผลิตบั้งไฟขนาดใหญ่หลายคณะ ซึ่งในแต่ละปีแต่ละคณะจะมีรายได้จากการว่าจ้างทำบั้งไฟทั้งจากในพื้นที่และนอกพื้นที่ รวมถึงการทำบั้งไฟเพื่อจุดแก้บนสำหรับคนที่ไปบนบานศาลกล่าวกับเจ้าพ่อมหาธาตุดังกล่าวด้วย

              สำหรับบุญบั้งไฟของชาวหนองคายนั้น ชาวหนองคายมีบุญบั้งไฟที่ถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันมานานแล้ว ซึ่งเดือน 6 นั้นจัดขึ้นเพื่อบูชาพญาแถนและพระธาตุกลางน้ำวัดศิริมหาสังกัจจายน์ ส่วนบุญเดือน 7 จัดขึ้นเพื่อบูชาพญาแถนและหลวงพ่อพระใส โดยก่อนที่จะจุดบั้งไฟจะมีการจุดบั้งไฟเสี่ยงทายก่อนทุกครั้ง เพื่อดูความอุดมสมบรูณ์ และความร่มเย็นเป็นสุขของชาวหนองคายในปีนั้นๆ ก่อนจะถึงวันงานหรือวันเอาบุญ ชาวบ้านก็จะช่วยกันเตรียมงานกันอย่างสามัคคี ฝ่ายแม่ครัวก็เตรียมข้าวปลาอาหารไว้เลี้ยงแขกเลี้ยงคน ฝ่ายช่างฟ้อนก็เตรียมขบวนรำเซิ้งไว้สำหรับแห่บั้งไฟ ฝ่ายผู้ชายที่เป็นช่างฝีมือก็ช่วยกันทำบั้งไฟเอ้และตกแต่งให้สวยงาม งานบุญบั้งไฟจะมีพิธีทำบุญเลี้ยงพระในวันโฮม จากนั้นจะตั้งขบวนเพื่อแห่บั้งไฟไปรอบๆ ตัวเมือง ส่วนวันจุดบั้งไฟในการจัดงานปี 2548 มีถึง 9 วัน คือตั้งแต่วันที่ 22 ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2548 บุญบั้งไฟทำให้ชาวหนองคายมีกิจกรรมร่วมกัน มีความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนการทำบั้งไฟนั้น จะมีช่างที่ทำแต่ละหมู่บ้านเรียกกันว่า "คณะ" เช่น คณะหงส์ก๋วยเตี๋ยว คณะคนล่าฝัน คณะฟ้ามืด คณะแพรวพรรณคนโก้ คณะเจ๊นางสั่งเกิด เป็นต้น (ธวัชชัย  เพ็งพินิจ:2548)

               สำหรับประเพณีบุญบั้งไฟที่มีชื่อเสียงของอีสานเหนือ คือที่ บ้านธาตุ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ซึ่งจะจัดงาน "บุญบั้งไฟล้านตำนานม้าคำไหล บูชาพระศรีมหาธาตุ" เป็นประจำทุกปี บุญบั้งไฟ ของชาวบ้านธาตุ ตำบลบ้านธาตุ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี มีความโดดเด่นด้วยตำนาน “ม้าคำไหล” ที่เป็นม้าทรงของ “พระศรีธาตุ” ที่เคยเป็นเจ้าเมืองในหลายร้อยปีก่อนซึ่งมีการสร้างพระธาตุเจดีย์ของพระศรีธาตุไว้ให้ลูกหลานสักการะบูชา  โดยพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณพระศรีธาตุและอัญเชิญประทับทรงม้าคำไหลในวันขึ้น 15 ค่ำและแรม 1 ค่ำเดือน 6 ของทุกปี ก่อนที่จะมีการจุดบั้งไฟเพื่อขอฝน (https://i-san.tourismthailand.org/index.php?mode=detail_events&fdNum=552) (อ่านตำนานม้าคำไหล และตำนานงานบุญบั้งไฟได้ที่ http://www.esanguide.com/guru/detail.php?id=256)

              อีกแห่งที่น่าสนใจคือ บุญบั้งไฟใน "งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน" เป็นส่วนหนึ่งของ “งานบุญหลวง” ซึ่งถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของ ท้องถิ่นโดยรวมเอา “งานบุญพระเวส” ( ฮีตเดือนสี่ ) และ“งานบุญบั้งไฟ” (ฮีตเดือนหก) เข้าไว้เป็นงานบุญเดียวกัน งานบุญพระเวสนั้นเป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อฟังเทศน์มหาชาติ ทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งถือ ว่าได้รับอานิสงส์แรงกล้าบันดาลให้พบพระศรีอริยเมตไตรย์ในชาติหน้า  ส่วนงานบุญบั้งไฟเป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อบูชาอารักษ์หลักเมืองและถือเป็นประเพณีการแห่ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ใน งานบุญหลวงนี้จะมีกองทัพ“ผีตาโขน” ออกวาดลวดลายทั่วเมืองด่านซ้ายร่วมสร้างความสนุกสนานครื้นเครงในขบวนแห่ด้วย โดยในปีนี้ ททท.สำนักงานเลย ได้จัดกิจกรรม “ ถนนผีฯ...คนเดิน (Phi Ta Khon Road) ” และการแต่งแต้มหน้ากากผีตาโขนเล็กสำหรับเป็นของที่ระลึก เพื่อนำเสนอศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของชุมชนแห่งนี้ (http://thai.tourismthailand.org/)

                สำหรับประเพณีบุญบั้งไฟที่มีเป็นที่รู้จักมากที่สุด ก็คือ ประเพณีบุญบั้งไฟของจังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นประเพณีบุญบั้งไฟในระดับชุมชนเมือง และได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2517 โดยเป็นการจัดสืบทอดประเพณีของชาวอีสาน ซึ่งยึดถือบูชาแถนเหมือนกับการจัดงานของชาวอีสานในพื้นที่อื่น แต่ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจนเข้าสู่การเป็นงานประเพณีระดับชาติ การท่องเที่ยวถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงานของจังหวัดยโสธร โดยมีรูปแบบการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาในงานประเพณี เช่น มีการประดิษฐ์บั้งไฟเข้าประกวดของสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยด้วย อีกทั้งบริบทที่ต่างไปจากงานวิจัยที่ผ่านมา ก็คือในปี 2549 งานประเพณีบุญบั้งไฟยังได้ขยายการจัดงานให้เข้าสู่รูปแบบสากลโดยมีการจัดประเพณีบุญบั้งไฟนานาชาติครั้งที่ 1 ซึ่งมีเมืองคู่แฝด คือเมืองโยชิดะ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วมงาน ซึ่งการร่วมงานของเมืองโยชิดะเริ่มตั้งแต่ปี 2536 และมีการลงนามเป็นเมืองคู่แฝดอย่างเป็นทางการในปี 2542 และกลายเป็นประเพณีนานาชาติในปี 2549

 

จะเห็นได้ว่า ในการจัดงานบุญบั้งไฟ นอกจากจะเป็นการสืบสานหรืออนุรักษ์ประเพณีเดิมแล้วการจัดงานบุญบั้งไฟในแต่ละท้องที่ยังรวมถึงการบูชาเทวาอารักษ์โดยเฉพาะมเหศักดิ์หลักเมืองซึ่งเป็นคติความเชื่อของชาวลาวเพื่อให้ปกป้องคุ้มครองให้ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข และการจุดบั้งไฟในบางแห่งยังทำขึ้นเป็นพุทธบูชา เช่น บวงสรวงพระธาตุ หรือพระพุทธรูปสำคัญประจำถิ่น การบวงสรวงดังกล่าวบางแห่งไม่ใช่เพื่อบูชาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการจุดบั้งไฟเพื่อแก้บนอีกด้วย