ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ตำนานพญาคันคาก

1.1  ตำนานพญาคันคาก

1.1.1  สำนวนที่1

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในเมือง      พันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้ง พญาแถนเทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง       ๗ เดือน ทำให้เกิดความลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัสแก่มวลมนุษย์ สัตว์และพืช จนกระทั่งพากันล้มตาย           เป็นจำนวนมาก พวกที่แข็งแรงก็รอดตายและได้พากันมารวมกลุ่มใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกันเพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน ที่ประชุมได้ตกลงกันให้พญานาคียกทัพไปรบกับพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ จากนั้นจึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบแต่ก็ต้องพ่ายแพ้อีกเช่นกัน ทำให้พวกสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดความท้อถอย หมดกำลังใจและสิ้นหวัง ได้แต่รอวันตาย

นที่สุด พญาคางคกจึงขออาสาที่จะไปรบกับพญาแถน จึงได้วางแผนในการรบโดยปลวกทั้งหลายก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้เดินทางไปสู่เมืองพญาแถน ซึ่งมีมอด แมลงป่อง ตะขาบ สำหรับมอดได้รับหน้าที่ให้ทำการกัดเจาะด้ามอาวุธที่ทำด้วย        ไม้ทุกชนิด ส่วนแมลงป่องและตะขาบให้[i]ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถนทำหน้าที่กัดต่อย หลังจากวางแผนเรียบร้อย กองทัพพญาคางคกก็เดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่การรบ          มอดทำหน้าที่กัดเจาะด้ามอาวุธ แมลงป่องและตะขาบกัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนเจ็บปวด ร้องระงมจนกองทัพระส่ำระสาย ในที่สุดพญาแถนจึงได้ยอมแพ้และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคก ดังนี้

.    ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์

.   ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว

.    ถ้าได้ยินเสียงสนู (เสียงธนูหวายของว่าว) หรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตกเพราะ           จะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว

ลังจากที่ได้สัญญากันแล้ว พญาแถนจึงได้ถูกปล่อยตัวไปและได้ปฏิบัติตามสัญญามาจนบัดนี้

 

ที่มา:   “บุญบั้งไฟเมืองยศ” เว็บไซต์จังหวัดยโสธร http://www.yasothon.go.th/boonbungfai.html

 

1.1.2   สำนวนที่2

             

มีนิทานปรัมปราที่ชาวอีสานเล่าต่อกันว่า ณ เมืองอินทะปัตถานคร มีพญาเอกราชปกครองประชาราษฎร์ด้วยหลักทศพิธราชธรรม เคารพและบูชาพญาแถนอยู่เสมอ ต่อมาพระมเหสีมีพระโอรสชื่อพญาคันคากมีรูปโฉมอัปลักษณ์ผิวพรรณตะปุ่มตะปั่มคล้ายคางคก แต่ด้วยความเพียรพยายามปฏิบัติธรรม เป็นผู้ทรงทศพิธราชธรรมและขึ้นครองราชย์ในเวลาต่อมา ทำให้บุคลิกภาพแปรเปลี่ยนมีรูปโฉมงดงาม ประชาชนเคารพยกย่องสรรเสริญ            จนลืมบวงสรวงพญาแถน ขณะเดียวกัน ณ เมืองเชียงเหียน อันมีพระยาขอมเป็นเจ้าครองนคร ซึ่งมีธิดาที่สวยงดงามชื่อนางไอ่ เป็นที่หมายปองของท้าวภังคีซึ่งเป็นโอรสของพญานาคแห่งแม่น้ำโขง แต่ก็ปรากฏเหตุการณ์บางอย่างซึ่งท้างภังคีเสียชีวิตเพราะนางไอ่ทำให้พญานาคโกรธมากและใช้อิทธิฤทธิ์ถล่มเมืองเชียงเหียนจนล่มจม แม้มี         นายผาแดงพานางไอ่ขึ้นนั่งบนหลังมาหลีกหนีจนพ้นอันตราย  แต่พญานาคก็ตามทันและใช้หางตวัดทำร้ายจนนางไอ่เสียชีวิต ฝ่ายพญาแถนรับรู้เรื่องราวจึงไม่ยอมให้พญานาคขึ้นไปเล่นน้ำในสระโบกขรณีบนฟ้าเช่นเคย  น้ำในสระดังกล่าวจึงนิ่งไม่ล้นหรือกระฉอกลงสู่พื้นดินเช่นเคย จึงทำให้บังเกิดความแห้งแล้งแก่โลกมนุษย์และสรรพสัตว์ดังนั้นพญาคันคาก(คางคก) จึงยกทัพไปรบกวนพญาแถนและบังคับให้พญาแถนปฏิบัติเช่นเคยทุกๆ ปีและทุกๆ เดือนหก          ซึ่งพญาแถนก็ยินยอมโดยให้พญานาคขึ้นไปเล่นน้ำที่สระโบกขรณีเช่นเคย โดยมีเงื่อนไขว่าต้องการฝนตกเมืองใดให้พญาคันคากส่งบั้งไฟไปบอกเมื่อนั้น พญาแถนก็จะปล่อยฝนมาทันทีและตลอดเดือนเพื่อให้เกษตรกรได้ทำนาและเพาะปลูกตามฤดูกาล....... นิทานข้างต้นนี้จึงเสมือนการตอกย้ำความเชื่อเรื่อง ฟ้า ขวัญ เมือง ของกลุ่มชนลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะชาวอีสาน ซึ่งจะต้องจัดบุญประเพณีบั้งไฟทุกๆ ปี และเป็นที่อัศจรรย์ใจของทุกคนว่าเมื่อ         จุดบั้งไฟในวันใด ตอนเย็นของวันนั้นฝนจะตกทุกครั้งไป  เรื่องนี้อาจสรุปได้อีกทางหนึ่งว่าเขม่าควันของลูกไฟดวงใหญ่ที่ทยานขึ้นสู่ท้องฟ้าอาจไปจับยึดก้อนเมฆจนลอยต่ำลงและกลั่นตัวเป็นหยาดฝน โปรยลงมาตามประสงค์ของผู้มาร่วมบุญประเพณีบั้งไฟดังกล่าว

ภาพลักษณ์ของบั้งไฟในขบวนแห่จึงคงไว้ด้วยส่วนหัวที่ควบคู่กับหัวพญานาคเพื่อยิงดวงไฟหางส่งพญานาคไปเล่นน้ำที่สระโบกขรณีบนท้องฟ้า โดยมีหนุ่มสาว 1 คู่ จำลองเป็นผาแดงและนางไอ่ขี่บนหลังม้าหลบหนีให้รอดพ้นความล่มจมของเมือง มีพิธีกรรมบวชพระและฟังธรรมอันมีสาระตอกย้ำคติชนและจารีต         “ฮีต 12 คอง 14” ซึ่งปลูกสำนึกแก่ผู้ปกครองบ้านเมือง  ภิกษุสงฆ์ และประชาชนทั่วไป ปัจจุบันการทำบั้งไฟเป็นทักษะพิเศษของคนยโสธร สามารถทำลำกล้องหรือเลาบั้งไฟขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 น้ำ (เรียกบั้งไฟแสน)  และขนาดใหญ่มากเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว (เรียกบั้งไฟล้าน) นิยมสลักลวดลายทางศิลปะบริเวณหางของบั้งไฟ  มีสูตรผสมดินปืนเฉพาะพื้นที่แล้วแต่วัตถุประสงค์ในการละเล่น แต่บั้งไฟที่แสดงแสนยานุภาคนั้น นิยมสลักลวดลายทางศิลปะบริเวณหางของบั้งไฟ มีสูตรผสมดินปืนเฉพาะพื้นที่แล้วแต่วัตถุประสงค์ในการละเล่น แต่บั้งไฟที่แสดงแสนยานุภาคนั้น นิยมเอ้และยิงให้ขึ้นสูงลอยบนท้องฟ้าได้นานเพื่อให้เขม่าควันจับก้อนเมฆได้อย่างกว้างและไกล           การจุดระเบิดและเล่นเปลวไฟรวมทั้งการยิงทยานในลักษณะต่างๆ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน จึงทำให้มีบั้งไฟหลากหลายชนิด อาทิ 1) บั้งไฟยึดติดอยู่กับที่ เช่นบั้งไฟพะเนียง บั้งไฟดอกไม้ ฯลฯ 2) บั้งไฟเคลื่อนที่ทางตรงข้าม ได้แก่ บั้งไฟหางทางมะพร้าว บั้งไฟเสียงโหวด บั้งไฟก่องข้าว บั้งไฟอีตื้อ บั้งไฟจินาย บั้งไฟม้า ฯลฯ 3) บั้งไฟลักษณะควงสว่าน เช่น บั้งไฟตะไล ฯลฯ 4) บั้งไฟเสียงดัง เช่น บั้งไฟพลุ เสียงสัตว์ เสียงคำราม ฯลฯประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นที่นิยมมากของประชาชนจังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี         อันเชื่อถือว่าเป็นปฏิบัติบูชาพญาแถน(พระอินทร์) สืบทอดภูมิปัญญาการประดิษฐ์และทดลองบั้งไฟ เป็นการละเล่นเพื่อเสี่ยงทายและแข่งขันให้สนุกสนานจนเป็นอาชีพ และที่สำคัญคือการสืบทอดธรรมเนียมพระพุทธศาสนาที่เน้นคติชนฮีตคองเพื่อความสามัคคี

 

ที่มา:   กัลยา จันทรารักษ์ (2553) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม http://folklore.culture.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=123:2010-02-05-05-09-51&catid=76:2009-11-21-07-36-27&Itemid=67

 

1.1.3  สำนวนที่3: นิทานพื้นบ้านเรื่องพญาคันคาก

ต้นฉบับเป็นคัมภีร์ใบลานได้มาจากวัดโจดนาห่อม ต.คลีกลิ้ง อ.ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ ผู้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ได้มาเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2535

 

พระนางแก้วเทวี มเหสีแห่งพญาเอกราชเจ้าเมืองอินทปัตถ์นคร ได้ประสูติพระโอรส ซึ่งมีผิวพรรณเหลืองอร่ามดั่งทองคำ แต่ว่ามีผิวหนังดุจคางคก และในวันที่พระกุมารประสูติ เกิดอัศจรรย์ ขึ้นบนพื้นโลก ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เปรี้ยงปร้าง ลมพายุพัดต้นไม้หักล้มระเนระนาด เสียงดังสนั่นหวั่นไหวราวกับว่าโลกจะถล่มทลาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีบุญลงมาเกิด พระยาเอกราชได้จัดหาหญิงสาว ที่มีลักษณะดี เช่น มีถันเต่งตึงกลมงาม          มาเป็นแม่เลี้ยงนางนมแก่พระกุมาร เมื่อพระกุมารเจริญวัยเติบใหญ่เป็นหนุ่ม ก็คิดอยากจะได้คู่ครอง และอยากได้ปราสาทเสาเดียวไว้เป็นที่ประทับ จึงเข้าเฝ้าและทูลขอให้ พระบิดาช่วย ฝ่ายบิดาเห็นว่าพระโอรสของตนมีรูปร่างผิดแผกแตกต่างไปจากคนทั่วไป คงไม่มีหญิงใดปรารถนาจะได้เป็นคู่ครอง จึงทรงบอกให้พระกุมารเลิกล้มความคิดเช่นนั้นเสียโดยให้เหตุผลว่าพระกุมารมีรูปร่างอัปลักษณ์ ทำให้พระกุมารเสียพระทัยยิ่งนัก

ต่อมาในกลางดึกสงัดของคืนวันหนึ่ง พระกุมาร จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าตนเคยได้สร้างสมบุญบารมีมา ก็ขอให้สำเร็จดังความปรารถนาด้วยเถิด ด้วยแรงอธิษฐานทำให้บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ซึ่งเป็นที่ประทับนั่งของพระอินทร์เกิดแข็งกระด้างขึ้น พระอินทร์จึงลงมาเนรมิตปราสาทเสาเดียวอันงดงามหาที่เปรียบไม่ได้ พร้อมด้วยข้าทาสบริวาร เครื่องอุปโภคบริโภค ซึ่งล้วนแล้วไปด้วยทิพย์ปานประหนึ่งเมืองสวรรค์ และยังได้เอานางแก้ว           จากอุดรกุรุทวีปมามอบให้เป็นคู่ครอง ก่อนจาก ได้เนรมิตพระกุมาร ให้เป็นชายหนุ่มรูปงาม พญาเอกราชเห็นประจักษ์ในบุญบารมีของลูก จึงยกราชสมบัติบ้านเมืองให้ครอบครอง

เมื่อพระกุมารได้ครองราชย์แล้ว เจ้าเมืองทั้งหลายในชมพูทวีปต่างก็มาขออยู่ภายใต้         ร่มบารมี แม้พวกพญาครุฑ พญานาค พญาหงส์ เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ เช่น ช้าง ม้า เสือ สิงห์ กระทิง แรด ลงไปถึงกบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก ผึ้ง ต่อ แตน มด ปลวก ต่างก็พากันมาถวายตัวเป็นบริวารจนหมดสิ้น ทำความไม่พอใจให้พญาแถนเป็นยิ่งนัก พญาแถนจึงไม่ยอมให้พวกพญานาคลงเล่นน้ำ เป็นเหตุ ให้เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกลงมายังโลกมนุษย์เป็นเวลาหลายปี ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารเหี่ยวเฉา ตาย มนุษย์และเหล่าสัตว์ต่างพากันเดือดร้อน จึงไปทูลให้พญาคันคากทราบ พญาคันคากจึงไปยังเมืองบาดาลถามพวกนาคดู เมื่อรู้เหตุที่ทำให้ฝนแล้งแล้ว       พญาคันคากจึงยกทัพอันประกอบไปด้วยมนุษย์ และเหล่าสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกขึ้นไปทำสงครามกับ        พวกพญาแถน

พญาคันคากกับพญาแถน ได้ต่อสู้กันด้วยอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ เมื่อพญาแถน เห็นว่า จะเอาชนะพญาคันคากด้วยฤทธิ์เดชไม่ได้ จึงท้าให้ชนช้างกัน ในที่สุดพญาคันคากชนะ จึงจับพญาแถนและให้พญานาค       จับมัดไว้ พญาแถนจึงขอยอมแพ้ และขอมอบถวายบ้านเมืองให้ และสัญญาว่าจะส่ง น้ำฝนลงมาให้ตามฤดูกาลดังเดิม และจะลงมาปลูกพันธุ์ข้าวทิพย์ลูกเท่ามะพร้าวให้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา พอถึงฤดูกาลทำนา ฝนก็ตกลงมายังให้ความชุ่มชื้นแก่แผ่นดินเป็นประจำทุกปี

พญาคันคาก ปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม ถือศีลภาวนา สร้างบุญกุศล อยู่มิได้ขาด ทำให้ชาวประชาร่มเย็นเป็นสุขกันถ้วนหน้า พระองค์ทรงพระชนมายุได้แสนปีจึงสวรรคต หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชาวโลกก็ได้อาศัยหนทางที่ พระยาคันคากสร้างไว้ขึ้นไปเรียนเอาเวทย์มนต์คาถาจากพวกพญาแถน     เมื่อลงมายังโลกแล้วก็ใช้คาถาอาคมที่ตนเองเรียนมาจากครูบาอาจารย์เดียวกันรบราฆ่าฟันกันล้มตายเป็นจำนวนมากต่อมาก และพวกมนุษย์ยังพากันเกียจคร้านไม่เอาใจใส่เรือกสวนไร่นา เมื่อข้าวกล้าที่พญาแถนปลูกไว้ตามที่สัญญากับพญาคันคากสุกแก่เต็มที่แล้ว ก็ไม่พากันทำยุ้งฉางไว้ใส่ มิหนำซ้ำ ยังพากันโกรธแค้นที่ให้เมล็ดข้าว       เท่าลูกมะพร้าว จึงช่วยกันสับฟัน จนแตกเป็นเม็ดเล็ก เม็ดน้อย เมล็ดข้าวจึงกลายเป็นเมล็ดเล็กๆ ดังที่เห็นในปัจจุบันนี้ จากนั้นมาข้าวจึงไม่เกิดเอง มนุษย์ต้องหว่าน ไถ ปัก ดำ จึงจะได้ข้าวมากิน เมื่อพญาแถนเห็นชาวโลกละเลยศีลธรรม ไม่ตั้ง ตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม พญาแถนจึงทำลายเส้นทางติดต่อระหว่างชาวโลกกับพวกแถนเสีย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชาวโลกจึงไม่อาจขึ้นไปยังเมืองฟ้าพญาแถนได้อีก

 

ที่มา:   http://chali0701.blogspot.com/2008/09/2542-588-1.html

 

1.1.4    สำนวนที่ 4: เกี่ยวพันกับบั้งไฟพญานาค

 

* สำหรับสำนวนนี้ เนื่องจากมีการคัดลอกจากอินเตอร์เนทต่อกันเป็นจำนวนมากโดยไม่มีการอ้างอิงจึงไม่ทราบแหล่งกำเนิดที่แน่ชัด

             

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาคันคาก ได้จุติอยู่ในครรภ์ของพระนางสีดา เมื่อเติบใหญ่ได้บำเพ็ญเพียรภาวนา จนพระอินทร์ชุบร่างให้เป็นชายหนุ่มรูปงาม พระอินทร์ได้ประธานนางอุดรกุรุตทวีปเป็นคู่ครอง พญาคันคากและนางอุดรกุรุตทวีป ได้ศึกษาธรรม และเทศนาสอนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายครั้นได้ฟังธรรมจากพระโพธิสัตว์คันคาก         ก็เกิดความเลื่อมใสจนลืม ถวายเครื่องบัดพลี พญาแถน ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้ก่อกำเนิดเผ่าพันธุ์และบันดาลน้ำฝนแก่ โลกมนุษย์

พญาแถนครั้นไม่ได้รับเครื่องบัดพลีจากมนุษย์และสรรพสัตว์ รวมทั้งเทวดาที่เคยเข้าเฝ้าเป็นประจำ ไปฟังธรรมกับพญาคันคากจนหมดสิ้น จึงบังเกิดความโกรธแค้นยิ่งนัก

พญาแถนโกรธแค้นที่เหล่ามนุษย์และสรรพสัตว์หันไปบูชาพญาคันคาก จึงสาปแช่งเหล่ามวลมนุษย์ไม่ให้มีฝนตกเป็นเวลาเจ็ดปี เจ็ดเดือน เจ็ดวัน ทำให้เกิดความแห้งแล้งไปทุกหย่อมหญ้า เหล่ามวลมนุษย์ จึงได้เข้าเฝ้าพระโพธิสัตว์ทูลถามและขอความช่วยเหลือ

พญาคันคากรู้ด้วยญาณจึงบอกมนุษย์ว่า เพราะพวกเจ้าไม่บูชาพญาแถน ท่านจึงพิโรธ จึงบันดาลมิให้มีฝนตกลงมา ความแห้งแล้งมีมาเจ็ดปี พญานาคีผู้เป็นใหญ่ในเมืองบาดาลที่เข้าเฝ้าพระโพธิสัตว์คันคาก อยู่ขณะนั้นได้รับฟังจึงยกทัพบุกสวรรค์โดยไม่ฟังคำทัดทานของพระโพธิสัตว์คันคาก

แต่พญานาคีพ่ายแพ้กลับมาและบาดเจ็บสาหัสด้วยต้องอาวุธของพญาแถน พระโพธิสัตว์คันคากเกิดความสงสารด้วยเห็นว่าพญานาคีทำไปด้วยต้องการขจัดความทุกข์ให้เหล่ามวลมนุษย์ จึงได้ให้พรแก่พญานาคีและเหล่าบริวาร

นับจากนั้นเป็นต้นมาพระพญานาคีได้ปวารณาตนเป็นข้าช่วงใช้พระโพธิสัตว์ไปทุกๆ ชาติแต่ความแห้งแล้งยังคงอยู่กับเหล่ามวลมนุษย์ พระโพธิสัตว์คันคากจึงได้วางแผนบุกสวรรค์ โดยให้พญาปลวก         ก่อจอมปลวกสู่เมืองสวรรค์ พญาแมงงอด แมงเงาเจ้าแห่งพิษ (แมงป่องช้าง) ให้จำแลงเกาะติดเสื้อผ้าพญาแถน พญานาคีให้จำแลงเป็นตะขาบน้อยซ่อนอยู่ในเกือกพญาแถน เมื่อองค์พระโพธิสัตว์คันคากให้สัญญาณจึงได้        กัดต่อยปล่อยพิษ

พญาแถนพ่าย ร้องบอกให้พระโพธิสัตว์คันคากปล่อยตนเสีย แต่พระโพธิสัตว์คันคาก กลับบอกว่าขอเพียงพญาแถนผู้เป็นใหญ่ให้พรสามประการ ก็จะมิทำประการใด

หนึ่ง    ให้ฝนตกลงมาตามฤดูกาล เหล่ามวลมนุษย์จะจุดบั้งไฟบวงสรวงพญาแถน

สอง     แม้ว่าฝนตกลงมาดั่งใจมาดแล้ว ให้ในทุ่งนามีเสียงกบเขียดร้อง

สาม     เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นเล้า(ยุ้งข้าว) ตัวข้าพญาคันคากจะส่งเสียงว่าวสนูให้         พ่อฟังเป็นสัญญาณว่า ปีนั้นข้าวอุดมสมบูรณ์

พญาแถนได้ฟังจึงได้ให้พรตามปรารถนา นับเนื่องจากนั้นมากลางเดือนหกของทุกๆ ปี ชาวอีสานจะร่วมกันทำบั้งไฟแห่ไปรอบๆ หมู่บ้านแล้วจุดบูชาพญาแถน

ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ พระองค์ได้เสด็จเผยแพร่ศาสนาไปทั่วชมพูทวีป พญานาคีผู้เฝ้าติดตามเรื่องราวพระองค์ บังเกิดความเลื่อมใสและศรัทธายิ่งนัก รู้ด้วยญาณว่าพระองค์คือพญาคันคาก             มาจุติ จึงจำแลงกายเป็นบุรุษขอบวชเป็นสาวก ตั้งใจปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์

ค่ำคืนหนึ่งพญานาคีเผลอหลับไหลคืนร่างเดิม ทำให้เหล่าภิกษุที่ร่วมบำเพ็ญเพียรทั้งหลายตื่นตระหนก ครั้งเมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องจึงขอให้พญานาคีลาสิกขา เนื่องจากนาคเป็นเดรัจฉานจะบวชเป็นภิกษุมิได้

พญานาคียอมตามคำขอพระพุทธองค์ แต่ขอว่ากุลบุตรทั้งหลายทั้งปวงที่จะบวชในพระพุทธศาสนาให้เรียกขานว่า “นาคี” เพื่อเป็นศักดิ์ศรีของพญานาคก่อนแล้วค่อยเข้าโบสถ์ จากนั้นเป็นต้นมา          จึงได้เรียกขานกุลบุตรทั้งหลายที่จะบวชว่า “พ่อนาค”

ต่อมาเมื่อครั้งพระพุทธองค์ได้เสด็จไปแสดงธรรมและจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพุทธมารดาและเหล่าเทวดา กระทั่งครบกำหนดวันออกพรรษา พญานาคี นาคเทวี พร้อมทั้งเหล่าบริวารจัดทำเครื่องบูชาและพ่นบั้งไฟถวาย ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

นับเนื่องจากนั้น ทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 จึงได้มีปรากฏการณ์ประหลาดลูกไฟสีแดงพวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขงสู่ท้องฟ้า ปรากฏมาให้เห็นตราบเท่าทุกวันนี้ ทุกคนเรียกขานว่า “บั้งไฟพญานาค”

 

ที่มา:   “พญานาค' และ 'บั้งไฟพญานาค' ศรัทธาหรือเรื่องจริง...!” ไทยรัฐออนไลน์, 23 ตุลาคม 2553. http://m.thairath.co.th/TRMobileSite/content@Content.service?id=120941'

 



[i]อีกชื่อหนึ่งคือ “ไอ่คำ”

 

แนะนำหนังสือสำหรับเด็ก

พญาแถนขี้ลืม (THE FORGETFUL PHAYA THAN) :นิทานสองภาษา ไทย-อังกฤษ
ผู้แต่ง/ผู้แปล : คำพูน บุญทวี
ปีพิมพ์ : 2 / 2552

เรื่องย่อ: ครั้งหนึ่ง เมื่อฝนไม่ตกติดต่อกันนาน 7 ปี เหล่าพญาสัตว์ได้ยกพลขึ้นไปเฝ้าพญาแถนผู้เป็นใหญ่บนฟ้า เพื่อทรงบัญชาให้พญานาคพ่นน้ำมายังโลก แต่พญาแถนเข้าใจผิดคิดว่าเป้นข้าศึก จึงเกิดการสู้รบกัน สุดท้ายได้รู้ว่าพญานาคไม่ได้พ่นน้ำฝนตามบัญชา ต่อมาภายหลังมนุษย์ต้องจุดบั้งไฟถวายพญาแถนในเดือนหกของทุกปี เพื่อเป็นการเตือนใจพระองค์ไม่ให้ลืมส่งน้ำฝนอีก