ช่องทางรับฟังความคิดเห็น     คลังเอกสาร     คำถามที่พบบ่อย     ถาม-ตอบ      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี    

ประวัติเฮือนกำนัน

ประวัติศาสตร์เฮือนกำนันอ่อน วามนตรี

 

 

 

 

ประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านศรีไค

จากการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์บอกเล่าในชุมชมบ้านศรีไค และชุมชนบ้านแมด สันนิษฐานได้ว่า ชุมชนบ้านศรีไคมีจุดกำเนิดหลังสงครามเจ้าอนุวงศ์ หรือราว พ.ศ.2371

“ศรีไค” เป็นชื่อหมู่บ้านที่เก่าแก่หมู่บ้านหนึ่ง ครั้งแรกมีชาวบ้านได้อพยพมาจากบ้านหัวเรือ ตำบลหัวเรือ จังหวัดอุบลราชธานี สาเหตุที่อพยพ คือการแสวงหาที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ เนื่องจากบ้านหัวเรือไม่มีแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตร ทำให้การปลูกข้าวไม่ได้ผล ในการอพยพได้ข้ามแม่น้ำมูลโดยอาศัยเรือมายังฝั่ง วารินชำราบ ครั้งแรกมาตั้งถิ่นที่บ้านหนองกินเพล ต่อมาได้อพยพมาที่บ้านเกาะน้อย ตำบลธาตุ และได้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้อพยพอีกครั้งมาตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้กับลำห้วยตองแวด ซึ่งเป็นลำห้วยที่อยู่ในบริเวณของหมู่บ้านศรีไคออก ณ ปัจจุบัน

 ตามคำบอกเล่า บ้านศรีไค นับอายุได้ประมาณ 182 ปี ก่อนหน้านี้ประมาณ พ.ศ. 2365 ชาวบ้านกลุ่มแรกซึ่งไม่ได้ระบุจำนวนว่ามีกี่คนและชื่ออะไรบ้าง ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณห้วยตองแวด เพราะได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำห้วยตองแวด ในระยะแรกของการอพยพมาตั้งบ้านเรือน มีไม่ถึง 10 ครอบครัว สถานที่ปลูกเรือนหลังแรกอยู่บริเวณคุ้มบ้านนอก ซึ่งก็คือ ที่ตั้งหมู่บ้านศรีไคออกในปัจจุบัน เรือนหลังแรก เป็นแบบมุงหญ้า อยู่แบบเรียบง่าย

สำหรับชื่อหมู่บ้าน “ศรีไค” กล่าวกันว่าในครั้งแรกที่มีชาวบ้านอพยพมาตั้งถิ่นฐาน ยังไม่มีชื่อหมู่บ้าน ต่อมานายโม้และนางหมั่น ซึ่งน่าจะเป็นครอบครัวคู่สามีภรรยาในยุคแรกของการตั้งหมู่บ้านได้ตั้งชื่อบริเวณที่การตั้งบ้านเรือนว่า “บ้านสิงไค” คำว่า “สิงไค” เป็นชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นอีสาน ในภาษาไทยภาคกลางก็คือ “ต้นตระไคร้” ซึ่งเป็นพืชสวนครัวชนิดหนึ่ง ที่ตั้งชื่อว่า “บ้านสิงไค” ก็เพราะเหตุว่าเป็นบริเวณที่ปลูกตระไคร้ ขึ้นได้งอกงามดีมาก และมีการปลูกจำนวนมาก ปี พ.ศ. 2371-2410 พบหลักฐานชื่อเจ้าอาวาสรูปแรกวัดบ้านสิงไคคือพระเฮ้า กนตสีโล สามารถอธิบายการขยายตัวของชุมชนบ้านคูเมืองมายังฝั่งตะวันออก การตั้งวัดศรีไคชี้ให้เห็นการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรของชุมชนบ้านศรีไคได้ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ต่อมาในประมาณปี พ.ศ. 2463 พระอาจารย์ สุธีร์ คันธโชติ เจ้าอาวาสวัดศรีไควราวาส ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “บ้านศรีไค” ซึ่งหมายถึงความเป็นศิริมงคล ขึ้นอยู่กับตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

พ.ศ.2486 ก่อตั้งโรงเรียนประชาบาลบ้านศรีไค มีครู 3 คนทำการอบรมสั่งสอน โดยมากแล้วคณะครูเป็นคนต่างถิ่น การเดินทางยังไม่สะดวกสบาย ครูต้องอาศัยนอนที่ศาลาวัด หรือชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันสร้างเฮือนพักให้คณะครู

พ.ศ.2502-2516 นายอ่อน วามนตรี ดำรงตำแหน่ง กำนันตำบลคูเมือง

พ.ศ.2532 ได้แยกตำบลคูเมือง ออกเป็น 2 ตำบล คือ ตำบลคูเมืองและตำบลเมืองศรีไค โดยมีนายกำจัด ไชยกุล เป็นกำนันตำบลเมืองศรีไคคนแรก

พ.ศ.2552 เทศบาลตำบลเมืองศรีไคได้ประกาศจัดตั้งและยกฐานะตามประกาศกระทรวงมหาดไทยจาก องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเทศบาลตำบล เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2552

ที่มา :http://www.muangsrikai.go.th/page.php?id=2495

เฮือนกำนัน

รูปแบบเฮือนกำนัน หลังคาทรงปั้นหยามุขจั่วเปิด ในบริบทสังคมการเมืองยุคความเป็นไทย (ที่เปลี่ยนผ่านจากเฮือนในวัฒนธรรมล้านช้างอย่างเฮือนโข่ง หรือเฮือนเกยในวิถีจารีตเก่า) โดยเป็นเฮือนแบบอย่างสมัยใหม่ซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับเรือนไทยประยุกต์ของภาคกลางที่สร้างปี พ.ศ. 2491-2494 ซึ่งมีอิทธิพลแบบอย่างตะวันตกแบบเรือนปั้นหยาขนมปังขิง ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่กลุ่มชนชั้นนำอีสานเมืองอุบลราชธานี ทั้งส่วนที่เป็นบ้านหรือเฮือนพักอาศัยของกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นฆราวาสหรือชาวบ้านและกลุ่มคณะสงฆ์ (รูปแบบกุฏิที่พักพระสงฆ์) พื้นถิ่น ที่นำเข้ารสนิยมรูปแบบบ้านเรือน (หรือเฮือนในภาษาถิ่น) ที่มีแบบอย่างเรือนเครื่องสับหรือเรือนที่ใช้ไม้จริงหรือไม้เนื้อแข็งแบบอย่างสมัยใหม่ ซึ่งเป็นที่นิยมในพระนครหรือศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองการปกครองแบบอย่างในกรุงเทพฯ  ด้วยรูปแบบเฮือนสมัยใหม่ที่ยกพื้นเรือน มีแบบแปลนการกั้นผนังห้องพักที่เป็นสัดส่วน พื้นที่การใช้งานที่ชัดเจนขึ้นแตกต่างจากรูปแบบเดิม โดยมีพื้นที่โถงกลางเอนกประสงค์ มีส่วนมุขขวางอาคารเป็นห้อง มีความโดดเด่นที่วัสดุมุงหลังคาด้วยวัสดุสมัยใหม่อย่างกระเบื้องหลังคาคอนกรีตแบบทรงหางว่าวที่มีความหนาเน้นความคงทน ซึ่งถือว่าเป็นที่นิยมมากในยุคนั้น จากเดิมที่เคยใช้วัสดุมุงที่ทำจากธรรมชาติอย่างไม้หรือที่เรียกแป้นเกล็ด ตลอดจนถึงกระเบื้องดินเผา 

ดังนั้น เฮือนหลังนี้จึงถือเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมหลักฐานทางประวัติศาสตร์พื้นถิ่นที่บอกเล่าการปะทะสังสรรค์ ด้านทัศนรสนิยมคติความเชื่อ ของชนชั้นนำในท้องถิ่นสัมพันธ์ กับการปรับเปลี่ยนจากวิถีสังคมเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพแบบอย่างวิถีวัฒนธรรมล้านช้าง สู่เงื่อนไขทางการเมืองใหม่ที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อการค้า ก่อเกิดเป็นลักษณะแบบอย่างรสนิยมใหม่ไทยกรุงเทพฯในวิถีสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ที่มา :ติ๊ก แสนบุญ คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เฮือนกำนันเป็นสมบัติของนายอ่อน วามนตรี สร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2491-2494 โดยมีกำนันอ่อน เป็นนายช่างใหญ่ ผู้ออกแบบและควบคุมงาน มีนายอรุณ วามนตรี เป็นผู้ช่วยนายช่าง และมีกลุ่มช่างฝีมือบ้านโนนโหนน เป็นลูกมือ ็ปูสร้างจากไม้ดู่ ไม้แคน จากพื้นที่อำเภอเดชอุดม สั่งซื้อและขนลำเลียงโดยทางเกวียนเที่ยวละ 9-10 ลำ ใช้ระยะเวลาขนส่งราว 10 วัน กำนันอ่อน วามนตรี เป็นคนมีฐานะดีที่สุดในหมู่บ้านเพราะมี เฮือนมุข ย่อมาจากเรือนจัตุรมุข และยังใช้เป็นสถานที่สำหรับประสานงานระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง ข้าราชการจากเมืองอุบลราชธานีและส่วนกลาง ซึ่งประกอบด้วย ตำรวจ ปลัดอำเภอ และนายอำเภอ ที่เดินทางมาราชการที่ตำบลคูเมือง ต้องค้างแรมที่เฮือนหลังนี้

 

 

กำนันอ่อน วามนตรี

แม่ครูขำ วามนตรี

กำนันอ่อน วามนตรี เป็นนักพัฒนา มีพื้นฐานความรู้มาจากการร่ำเรียนในระบบเพศบรรพชิต ที่สอนศาสตร์ทั่วไป และพระพุทธศาสนา รวมถึงงานช่างฝีมือต่างๆ การอาชีพ สมัยครองเพศบรรพชิตเป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงได้รับกิจนิมนตร์อยู่เป็นประจำ หลังการลาสิกขาบท จึงประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง วัด และโรงเรียนในเขตท้องที่วารินชำราบ และบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ยังเป็นผู้ปูพื้นฐานระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในชุมชนที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น เช่น การผลักดันให้ชุมชนยกเลิกการต้มเหล้าเถื่อนด้วยการสั่งซื้อเหล้าขาวมาจำหน่ายยังชุมชนในระบบสินเชื่อ การบุกเบิกและกว้านซื้อที่ดินเพื่อทำไร่ที่อำเภอกันทราลักษณ์

กำนันอ่อน วามนตรี คือ แบบฉบับของ นักปกครอง นักพัฒนา และนักสังคมสงเคราะห์

ฐานะนักปกครอง มีความสามารถในการดูแลสารทุกข์สุขดิบให้กับลูกบ้าน บ่อยครั้งที่ลูกบ้านไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ กำนันจะบอกว่า “เข้าไปกรอกข้าวสารในยุ้งฉางเอาโลด”เมื่อลูกบ้านเจ็บป่วยต้องพึ่งยาสามัญประจำบ้านและยาทั่วไปที่บ้านกำนัน

ฐานะนักพัฒนา เป็นผู้สนองนโยบายการพัฒนาของรัฐบาลในโครงการส้วมอนามัย โครงการปุ๋ยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การลดกิจการต้มเหล้าเถื่อน

ฐานะนักสังคมสงเคราะห์ เป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนชุมชนโดยเฉพาะ เรื่องการสร้างโรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนคูเมืองอ่อนอนุเคราะห์

กำนันอ่อน วามนตรี มีภรรยา ชื่อ นางขำ วามนตรี มีอาชีพรับราชการครูที่โรงเรียนบ้านศรีไค แบบอย่างของข้าราชการท้องถิ่นสายครู และการโภชนาการอันเป็นที่รักของลูกศิษย์ลูกหา เหล่าศิษย์ที่เกิดช่วงปี พ.ศ. 2470-2489 เรียกท่านอย่างติดปากว่า แม่ครูขำ หรือ แม่นายครูขำ หมายถึงการยกย่องครูในฐานะมารดา อันเป็นคำเรียกครูที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับมารดาของตน นางขำทุ่มเทชีวิตให้กับการเป็นครู เป็นแม่ที่ดีของบุตร ยึดถือฮีต คอง ประเพณี การดูแลเรือกสวน ไร่ นา บิดา-มารดา แขกบ้านแขกเมือง พี่น้อง และประชาชน นางขำเป็นภรรยาคู่ชีวิตของกำนันอ่อนที่คอยสนับสนุนสามีในภาระกิจการงานอยู่เป็นประจำ กล่าวกันว่าภรรยากำนันอ่อนเป็นผู้กว้างขวาง ต้อนรับแขกบ้าน แขกเมืองเป็นอย่างดี เป็นผู้เข้าอกเข้าใจ และอ่านจิตใจผู้คนได้อย่างถ่องแท้ เมื่อไปถึงบ้านกำนันอ่อน แม่ครูขำเป็นผู้ดูแลปูเสื่อ ทุกคนจะอิ่มหนำสำราญก่อนเดินทางกลับบ้าน

ช่วงปีทศวรรษที่ 2490- ปี พ.ศ. 2516 เฮือนกำนัน สะท้อนความสัมพันธ์ของคนในชุมชน นายอ่อนและนางขำคือมิตร และเพื่อนของชุมชน อาจกล่าวได้ว่าสามี-ภรรยาคู่นี้คือผู้กว้างขวาง ซึ่งไม่มีภาพลักษณ์ของนักเลงอยู่เลย และยังสะท้อนระบบอุปถัมภ์ของชุมชนบ้านศรีไคและชุมชนโดยรอบ ข้าราชการท้องถิ่นคือผู้อุทิศตนแก่ชุมชน ผลตอบแทนที่ชุมชนมีให้กับกำนันอ่อน-นางขำ คือแบบอย่างในการพัฒนาชุมชนอย่างเต็มอกเต็มใจ

ต้นทศวรรษที่ 2530 เมื่อชุมชนล่วงรู้ว่าจะมีการก่อสร้างสถาบันอุดมศึกษา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นแหล่งการแสวงหาทุน ช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 คนบ้านศรีไคจำนวนหนึ่งได้ขายที่ดินและย้ายไปตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ไร่ สวน และนาในบริเวณบ้านโนนงาม บ้านโคกเจริญ และบ้านอุดมชาติ

วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 การแยกเขตปกครองบ้านศรีไคออกจากตำบลคูเมือง และการตั้งเทศบาลตำบลเมืองศรีไคประกอบด้วยหมู่บ้าน 11 หมู่ ได้แก่ บ้านค้อ บ้านแขม บ้านศรีไคตก บ้านศรีไคออก บ้านแมด บ้านมดง่ามเหนือ บ้านโนนงาม บ้านอุดมชาติ บ้านมดง่ามใต้ บ้านดอนบาก บ้านโคกเจริญ  บ้านศรีไคมี 214 ครัวเรือนแยกออกเป็น 2 หมู่ คือศรีไคออก และศรีไคตก นายลา กุจะพันธุ์เป็นหนึ่งในผู้นำชุมชนที่เซ็นหนังสือยินยอมการการก่อตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า “พ่อไปแตะโป้งยินยอมอยู่สำนักงานที่ดิน

การตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และพื้นที่อื่น ๆ ของสังคมไทยได้ร่ำเรียนขั้นอุดมศึกษา ที่ตั้งไม่ห่างไกลจากภูมิลำเนา เป็นการขานรับนโยบายการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ปัจจุบัน รณรงค์การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ประกาศตนเป็นภูมิปัญญาแห่งลุ่มน้ำโขง หมายถึง การมีหน้าที่ค้ำจุนสังคมด้านความรู้เพื่อสร้างชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงในระบบโลก

ที่มา : เอกสารประชาสัมพันธ์ ประวัติเฮือนเก่าบ้านศรีไค เมธี เมธาสิทธิ์ สุขสำเร็จ สุธิดา ตันเลิศ และนักศึกษาหลักสูตรประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ในปี 2553 ทายาทของกำนันอ่อน ได้หารือกันและตกลงจะรื้อเฮือนไม้หลังนี้เนื่องจากเฮือนมีอายุมาก มีสภาพชำรุดทรุดโทรม  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เห็นว่า เฮือนกำนันอ่อน มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย จึงได้ขอความอนุเคราะห์เฮือนดังกล่าวจากทายาทของกำนันอ่อน ย้ายมาไว้ภายในบริเวณอุทยานศิลปวัฒนธรรมอีสานและลุ่มน้ำโขง  ณ ริมหนองอีเจม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อการอนุรักษ์และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ชุมชน ศิลปะและวัฒนธรรม รวมไปถึงเป็นสถานที่จัดกิจกรรมด้านประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น นักศึกษา บุคลากรมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและชุมชนโดยรอบ เช่น ประเพณีสงกรานต์ จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งสามารถตอบโจทย์ตัวชี้วัดด้านศิลปวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ในเรื่องของการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม


 

ภาพบรรยากาศพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ วันที่ 13 กันยายน 2556