โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 27 สิงหาคม 2567 , 19:58:12 (อ่าน 214 ครั้ง)
ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เข้าร่วมกิจกรรมงาน มหกรรมแก้จนคนอำนาจเจริญ และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาเจริญ เป็นประธาน พร้อมมอบใบประกาศนียบัตรให้แก่หน่วยงานขับเคลื่อนขจัดความยากจนฯ ซึ่งทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะที่เป็นหน่วยขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยังยืนฯ เกิดผลเป็นรูปธรรม เข้ารับประกาศนียบัตรในครั้งนี้ด้วย จัดโดย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ จัดมหกรรมความสำเร็จการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอำนาจเจริญ ประจำปีงบประมาณ 2567 ณ ตลาดฮิมอ่าง ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ร่วมออกบูทโดยนำสินค้าต้นแบบของโครงการ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากตะไคร้ ไม่ว่าจะเป็น สบู่ บาล์ม ชาตะไคร้ ตะไคร้บดผง เครื่องต้มยำแห้ง และนำตะไคร้ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนที่โครงการได้สนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนทั้งวิสาหกิจชุมชนฮักเสนางค์ และศูนย์การเรียนรู้เด็กและเยาวชนเมืองธรรมเกษตร และยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้แก่ ผงแช่เท้า ผงปรุงรส สบู่ว่านสาวหลง และผลิตภัณฑ์ยาดม “นางรวย” ของโครงการวิจัยแก้จน ทีมอุบลราชธานี อีกด้วย และได้จัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีสาธิตการทำสบู่และยาหม่องบาล์มอย่างง่ายจากสมุนไพรในพื้นที่ นำโดยนักวิจัย ดร.สุกัญญา คลังสินสิริกุล และดร.พัชริดา ปรีเปรม พร้อมด้วยคณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งให้ความสนใจอยากให้นำไปถ่ายทอดความรู้ในระดับพื้นที่ต่อไป
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ ผู้บริหารโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดอำนาจเจริญ นักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ร่วมวงเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การค้นหาโมเดลแก้จนจากแนวปฏิบัติที่ดีสู่ความยั่งยืน ร่วมแลกเปลี่ยนกระบวนการทำงาน และนำหนังสือ “เสียงคนอำนาจ” ที่ชี้ให้เห็นกระบวนการทำงานของโครงการที่สำคัญ คือ การฟังเสียงครัวเรือนยากจนเพื่อให้เกิดความเข้าใจปัญหาที่ลึกซึ้ง การมองเห็นคุณค่าความเป็นคน และการเสริมพลังอำนาจของครัวเรือนยากจนผ่านการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระดับที่แตกต่างกันไป โดยชี้ว่าครัวเรือนต้องเข้มแข็งด้วยตนเองและพึ่งพารัฐให้น้อยที่สุดจึงจะเป็นหนทางสู่ความยั่งยืน
“ความยากจนคือการที่คนอื่นมี แต่ตัวเองมีไม่เหมือนคนอื่น” เป็นเสียงจากครัวเรือนหนึ่งในวงเสวนาที่สะท้อนความยากจนในเชิงสัมพัทธ์ นอกจากนี้ ความยากจนยังสัมพันธ์กับมิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ การศึกษา สุขภาพ ความเป็นอยู่ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ ซึ่งหน่วยงานราชการต่างพยามยามบูรณาการให้ความช่วยเหลือโดยพยายามชี้ว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนต้องช่วยกันปิดรูรั่วไม่ให้เกิดปัญหาแบบ โง่ จน เจ็บ ที่กลายเป็นความเรื้อรังที่แก้ไขได้ยาก และต้องไม่สร้างความ “อยากจน” ให้เกิดขึ้นในกลุ่มครัวเรือน
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะที่เป็นหน่วยขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนฯ พร้อมยกระดับกลไกความร่วมมือ เพื่อขจัดความยากจนระดับจังหวัด โดยได้ดำเนินโครงการการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับรายได้และส่งเสริมคุณภาพชีวิตอย่างมีส่วนร่วม ตามวิสัยทัศน์ ที่ว่า “ มหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียน ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่สังคม ”