โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 16 สิงหาคม 2567 , 13:24:54 (อ่าน 435 ครั้ง)
ม.อุบลฯ พัฒนาศักยภาพทักษะด้านสุขภาวะนักศึกษา
ส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพใจ
--------------------------------------
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย สำนักงานพัฒนานักศึกษา จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายอาจารย์ที่ปรึกษาด้านสุขภาวะนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ 2567 สำหรับอาจารย์ที่ปรึกษาและบุคลากร โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรีชา บุญจูง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ เป็นประธานเปิดและนางสาวรมิตา ผูกรักษ์ หัวหน้างานสวัสดิการนักศึกษา กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อให้อาจารย์ที่ปรึกษาและบุคลากร ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ด้านสุขภาวะจิต และพัฒนาศักยภาพทักษะด้านการฟังและการสื่อสาร ทักษะการดูแลและให้คำปรึกษานักศึกษาด้านสุขภาวะจิต การเรียน การปรับตัว และการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 ณ ห้อง UBU1405 ชั้น 4 สำนักงานอธิการบดี 1
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรีชา บุญจูง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า สำหรับการจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายอาจารย์ที่ปรึกษาด้านสุขภาวะนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อตระหนักถึงการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพใจของนักศึกษา มีทักษะฟัง-การตั้งคำถาม และมีความรู้เรื่องการคัดกรองเด็กด้านสุขภาพจิต (เบื้องต้น) รวมถึงรู้วิธีการรับมือเมื่อนักศึกษาเกิดปัญหาทางสุขภาพจิต ตลอดจนสามารถป้องกัน ส่งเสริม และช่วยเหลือ ให้นักศึกษาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข และการอบรมครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจากโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำเพื่อสังคมที่เป็นธรรม รุ่นที่ 2 (Equity Reader2) สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ภาพรวมด้านสุขภาพจิตของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในรายงานการวิเคราะห์พฤติกรรมสุขภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ส.ส.ส.) เมื่อเดือนมกราคม 2566 เมื่อพิจารณาถึงกลุ่มบุคคลที่นักศึกษามักเข้าไปขอคำปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือ เวลามีปัญหา สะท้อนให้เห็นว่านักศึกษายังคงเลือกคนใกล้ชิดที่ตนเองไว้วางใจและเชื่อใจในการขอคำปรึกษามากกว่า โดยมีสัดส่วนของการเข้าถึงอาจารย์ในสัดส่วนถึงร้อยละ 3.1 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าสถานการณ์ภาพรวมระดับประเทศ สะท้อนให้เห็นว่านักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและอาจารย์ผู้สอนน่าจะมีความสัมพันธ์และเข้าถึง สามารถพูดคุยกันได้มากกว่า ทำให้เห็นโอกาสในการพัฒนากลุ่มอาจารย์ที่ปรึกษาและบุคลากร โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มอาจารย์ที่ปรึกษาและบุคลากรมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในกลไกการพัฒนาระบบสุขภาวะจิตที่เหมาะสมในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป
------------------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว
Tag อื่นๆ : #การจัดการศึกษา#พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน